“Better tomorrow Read today” = “อ่านหนังสือวันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”
FREEBOX

 

ณัฐพล  เดชขจร. 2566. วิทยาศาสตร์ดึกดำบรรพ์ยุคฟาโรห์ = Pharaohs' Ancient Science. กรุงเทพฯ: แสงดาว. 424 หน้า. 430 บาท.

 

         ส่วนแรกของหนังสือนำเสนอศาสตร์สำคัญที่เป็นตัวชูโรงของอารยธรรมอียิปต์โบราณ ทุกท่านจะได้ศึกษาเทคโนโลยีของไอยคุปต์โดยเริ่มต้นจากศาสตร์ของการทำมัมมี่ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคสมัย ตามด้วยศาสตร์ของการประดิษฐ์ “กระดาษปาปิรัส” ที่ถือว่าเป็นกระดาษชนิดแรกของโลก เป็นจุดกำเนิดของการจดบันทึกของชาวอียิปต์โบราณ ทำให้นักวิชาการในปัจจุบันทราบเรื่องราวเกี่ยวกับชาวไอยคุปต์มากมาย ปิดท้ายด้วยศาสตร์ของการสร้างพีระมิดอันลึกลับ นำเสนอแนวคิดและทฤษฎีว่าชาวไอยคุปต์สร้างพีระมิดอย่างไร มีสมมติฐานใดบ้าง ในปัจจุบันมีการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเข้ามาสนับสนุนหรือหักล้างแนวคิดในการสร้างพีระมิดบ้างหรือไม่ และทฤษฎีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดควรจะเป็นอะไร 

         ส่วนที่สอง ขยับเข้ามาเล่าวิทยาศาสตร์ในเชิงนามธรรมที่ขับเคลื่อนองค์ความรู้ของชาวอียิปต์โบราณ ประกอบไปด้วยองค์ความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์และดาราศาตร์อันนำไปสู่การประยุกต์ให้เป็นระบบปฏิทินตามมาด้วยการกำหนดวัน เวลา และระบบฤดูกาลเพื่อทำการเพาะปลูกเชื่อมโยงไปถึงการสร้างพีระมิดและการประดิษฐ์ “นาฬิกา” ยุคโบราณด้วยเช่นกัน ส่วนที่สาม นำเสนอวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในสมัยฟาโรห์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของชาวอียิปต์โบราณมาตลอด 3,000 ปี ศึกษาความสำคัญและความสัมพันธ์ของเทคโนโลยีนานาชนิด เช่น ระบบปฏิทินและดวงดาวกับองค์ความรู้ทางด้านเกษตรกรรม รวมถึงองค์ความรู้ทางด้านวัสดุศาสตร์อันน่าทึ่งของชาวไอยคุปต์ที่นอกจากจะมีส่วนช่วยในการสร้างพีระมิดแล้ว ยังนำมาสู่การประดิษบ์ “พาหนะ” เช่น “เรือ” จนนำไปสู่การเดินทางที่ทำให้พวกเขาได้พบเจอกับชนกลุ่มใหม่ที่เป็นทั้งมิตรและศัตรู ทำให้ศาสตร์ของการผลิตอาวุธและการสงครามจึงจำเป็นต้องตามมา ยิ่งไปกว่านั้นองค์ความรู้ทางด้านการแพทย์ไอยคุปต์ที่มีการผสมผสานการใช้สมุนไพรเข้ากับเวทมนตร์ รวมถึงการผลิตเครื่องสำอางและน้ำหอมหลากชนิดที่โด่งดังไปทั่วโลกโบราณก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

         ส่วนสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ จะพาทุกท่านไปตามหาความจริงของ “เทคโนโลยีล้ำยุค” ที่ถูกกล่าวอ้างว่าชาวอียิปต์โบราณเคยใช้งาน เช่น ภาพสลักคล้าย “หลอดไฟฟ้า” ที่ปรากฏบนผนังวิหารเดนเดรา (Dendera) ของชาวไอยคุปต์ หรือแม้แต่รูปสลักที่ดูคล้ายอากาศยานและโมเดล “เครื่องร่อน” ว่าแท้ที่จริงแล้วนี่คือศาสตร์อันก้าวล้ำของชาวไอยคุปต์ที่ถูกลืมเลือนไปยาวนานกว่า 3,000 ปี หรือแท้ที่จริงแล้วจะมีคำอธิบายที่ฟังดูสมเหตุสมผลสำหรับเรื่องนี้กันแน่?

 

จำนวนผู้เยี่ยมชม
เดือนนี้
9,011
ปีนี้
30,501
โรงเรียนประสาทวิทยาคาร อ.ปราสาท จ.สุรินทร์. เข้าเยี่ยมชมหอสมุดม.ล.ปิ่น มาลากุล วันที่ 14 ธันวาคม 2566
ดูกิจกรรมทั้งหมด