ปรีดี บุญซื่อ. 2558. อาณาจักรอียิปต์โบราณ ยุคสมัยฟาโรห์. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์. 244 หน้า. 210 บาท.
หนังสือเล่มนี้อธิบายถึงสังคมและวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่สำคัญของอาณาจักรอียิปต์โบราณ ในยุคสมัยฟาโรห์ ซึ่งดำรงอยู่มายาวนานกว่า 3,000 ปี ในช่วงระหว่าง 3,000-332 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของสังคมที่ถูกเรียกว่า “โบราณที่สุด” เนื้อหาของหนังสือประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับ ความสำคัญของแม่น้ำไนล์ ประวัติศาสตร์ทางการเมือง เมืองโบราณต่างๆ โครงสร้างสังคมแบบพีระมิด ความเชื่อทางศาสนา วิถีชีวิตของผู้คน สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และภาษาอักษรภาพ ความเข้าใจต่อวัฒนธรรมอียิปต์โบราณของหนังสือเล่มนี้ อาศัยองค์ความรู้ด้านโบราณศึกษาที่เรียกว่า “อียิปต์วิทยา” ที่ช่วยให้คนในยุคปัจจุบัน สามารถก้าวข้ามเวลาย้อนกลับไปในอดีตนับพันๆ ปี ก้าวข้ามความแตกต่างด้านวัฒนธรรมและภาษา เพื่อไปเข้าใจชาวอียิปต์โบราณที่ดำรงชีวิตเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว ทำให้เห็นว่าชาวอียิปต์โบราณเป็นปุถุชนธรรมดา ที่มีความคิด ความใฝ่ฝัน และวิถีชีวิต เหมือนกับคนในปัจจุบัน พวกเขาต้องเผชิญปัญหาท้าทายในเรื่องการดำรงชีวิตและจากสภาพแวดล้อมต่างๆ แบบเดียวกันกับที่ผู้คนในทุกวันนี้เผชิญหน้าปัญหาท้าทายต่างๆ และพวกเขาสามาถสร้างความก้าวหน้าในการดำรงชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง ชาวอียิปต์โบราณไม่ได้สร้างวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาจากเวทมนตร์วิเศษใดๆ แต่มาจากความมานะพยายามของคนที่มองโลกแบบซื่อๆ ง่ายๆ เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝันนั้นเป็นจริง และเคารพศรัทธาต่อพลัง “ศักดิ์สิทธิ์” ของธรรมชาติต่างๆ ที่อยู่แวดล้อมพวกเขา
จำนวนผู้เยี่ยมชม | |
เดือนนี้ | 7,095 |
ปีนี้ | 123,540 |