“Better tomorrow Read today” = “อ่านหนังสือวันนี้ เพื่อพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”
FREEBOX

วิลาศ มณีวัต

 

เกิด: 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2467

ตำบลบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ถึงแก่กรรม: 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 (79 ปี)

 

นายวิลาศ มณีวัต บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ "ชาวกรุง" คนแรก นักเขียนที่มีผลงานจำนวนมากและหลากหลาย ทั้งงานเขียนเชิงสารคดี สารคดีท่องเที่ยว เกร็ดความรู้ สารคดีต่างแดน สารคดีเชิงธรรม งานแปล เรื่องสั้น นวนิยาย และคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ มีผลงานที่มีชื่อเสียง เช่น "สายลม-แสงแดด" "ธรรมะสำหรับคนนอกวัด" "การเมืองเรื่องสนุก" "พระราชอารมณ์ขัน" เป็นต้น

ประวัตินายวิลาศ มณีวัต เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2467 ที่ ตำบลบ้านดอน อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรชายคนโตของ ขุนมณีวัตศึกษากร (วัลลภ มณีวัต) และ นางอารี มณีวัต

นายวิลาศ สมรสกับ คุณหญิงสุรีพันธ์ มณีวัต (นามสกุลเดิม "ชาลีจันทร์") เจ้าของนามปากกา "นิตยา นาฏยสุนทร" อดีตรองผู้ว่าการฝ่ายบัญชีและการเงิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีธิดาด้วยกัน 3 คน

นายวิลาศ มณีวัต ถึงแก่กรรมด้วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2546 เวลา 0.30 น. สิริรวมอายุได้ 79 ปี 7 เดือน 7 วัน

ประวัติการศึกษานายวิลาศ เริ่มต้นเรียนที่ โรงเรียนสารภีอุทิศ อำเภอพุมเรียง ซึงบิดาย้ายไปเป็นธรรมการอำเภอ เรียนต่อที่โรงเรียนประจำจังหวัดสุราษฏร์ธานี ก่อนมาต่อชั้นมัธยมปีที่ 5 และที่ 6 ที่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และสอบเข้า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แห่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นที่หนึ่งของประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2482 จากนั้นศึกษาต่อที่ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จนจบปริญญาตรี

ประวัติการทำงานนายวิลาส มณีวัต เริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่ยังเป็น นิสิตจุฬาฯ มีผลงานคือนวนิยายเรื่อง “ความรักไม่มีพรมแดน” เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ โดยเป็นบรรณาธิการคนแรกของหนังสือพิมพ์ "ชาวกรุง" อยู่หลายปี ต่อมาสามารถสอบคัดเลือกไปเป็นโฆษกแผนกภาษาไทยของ สถานีวิทยุ บี.บี.ซี. แห่งกรุงลอนดอน จึงเดินทางไปทำงานที่ลอนดอนช่วงปี พ.ศ. 2497 ถึงปี พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นจึงกลับมาทำงานเป็นประชาสัมพันธ์ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด

นายวิลาศเขียนเรื่องสั้น ครั้งแรกลงในหนังสือพิมพ์ "นิกรวันอาทิตย์" ในคอลัมน์ประจำชื่อ "สายลม-แสงแดด" ใช้นามปากกาว่า "นภาพร" ที่ต่อมาได้รับการรวมเล่มพิมพ์ต่อเนื่องหลายครั้ง จากนั้นได้ร่วมงานกับ นสพ.อื่นๆ อีกหลายฉบับ รวมทั้งเคยร่วมงานกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ด้วย

หลังจากนั้นได้ทำงานเป็นนักเขียนอาชีพเต็มตัว งานที่ถนัดและมีปริมาณมากที่สุดคือ งานเขียนเชิงสารคดี ทั้งสารคดีท่องเที่ยว เกร็ดความรู้ สารคดีต่างแดนและสารคดีเชิงธรรม รองลงมาคือ งานแปล คอลัมน์ประจำ เรื่องสั้น และนวนิยาย

นายวิลาศ มณีวัต มีนามปากกาที่ใช้ในการเขียนหลายชื่อ เช่น "วิวัต" สำหรับเขียนเรื่องสั้น "โอฬาร" สำหรับเขียนวรรณกรรมวิจารณ์ "วิไช วัขราวัต" สำหรับเขียนนิยายต่างแดน "นภาพร" สำหรับเขียนข้อความเชิงปรัชญา "ฉางกาย" สำหรับเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์รายวัน และ "หมวกเบอร์เจ็ด" สำหรับเขียนสารคดี ประวัติบุคคล นอกจากนี้ยังมีนามปากกาอื่นๆ เช่น "ราชาธิราช" "สุชาวดี" "มานพ" เป็นต้น

งานเขียนของ นายวิลาศ มณีวัต ที่ได้รับการพิมพ์เป็นเล่มมีไม่ต่ำกว่า 70 เล่ม หลายเล่มได้รับการพิมพ์ 20-30 ครั้ง โดยเฉพาะชุด "พระราชอารมณ์ขัน" ที่กล่าวถึงความประทับใจ ชื่นชมและเทิดทูนในพระราชจริยาวัตร อันเปี่ยมล้นด้วยพระราชอารมณ์ "ขัน" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

นามปากกา: วิวัต, โอฬาร, วิไช วัชราวัต, นภาพร, ฉางกาย, หมวกเบอร์เจ็ด, ราชาธิราช, สุชาวดี, มานพ

งานเขียนที่สำคัญ

  1. สายลมแสงแดด

  2. ธรรมะสำหรับคนนอกวัด

  3. การเมืองเรื่องสนุก

  4. โฉมหน้าอันแท้จริงของญี่ปุ่น

  5. โฉมหน้าอังกฤษ

  6. โฉมหน้าของอเมริกา

  7. โฉมหน้านักประพันธ์

  8. เฮฮาคลับ

  9. สนุกกับแพรว

  10. ฮ้อตแพนท์หัวเราะ

  11. รถรางสายรอบเมือง

  12. ภูเขาทองพูด

  13. นางบาป

  14. ซูการ์โน

  15. เติ้งเสี่ยวผิง

  16. ชีวิตพิสดารของอองซานซูจี

  17. บิลล์ คลินตัน-โทนี แบลร์ สองพี่เบิ้มผู้นำโลก

  18. ลุงโฮ

  19. ก่อนที่ฉันจะลืม

  20. วิลาศ มณีวัตพูด

  21. น้ำกับฟ้า

  22. สนุกกับคึกฤทธิ์

  23. คึกฤทธิ์หกรอบ

  24. คึกฤทธิ์ลาโลก

  25. พระราชอารมณ์ขัน

  26. อารมณ์ขันของสมเด็จพระเทพฯ

  27. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับ “คุณๆ” 4 ขา

  28. อารมณ์ขันของหลวงพ่อคูณ

  29. อารมณ์ขัน 2000

  30. หนังสือหัวเตียง

  31. รักไม่มีพรมแดน

  32. รักระทมของเจ้าฟ้ากุ้ง

  33. บ้านลาดพร้าว 1-2

  34. ฉันรักฤดูร้อน (รวบรวมและเรียบเรียง)

  35. คือ...คนที่คิดถึง (รวบรวมและเรียบเรียง)

 

จำนวนผู้เยี่ยมชม
เดือนนี้
6,854
ปีนี้
110,333
ผู้อำนวยการจากโรงเรียนเซนต์แอนดรูว์ ประเทศสิงคโปร์เข้าเยี่ยมชมห้องสมุด
ดูกิจกรรมทั้งหมด