“ตึกสี่”
โดย ศ.ศ. (อ.ศุจิกา เศรษฐบุตร)
เรื่องของตึก ๔ นั้นยืดยาวแท้ ถ้าท่านย่างเข้ามาในบริเวณโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแล้วท่านจะถามว่า “ ตึก ๔ อยู่ไหน? ” ไม่ว่านักเรียนหรืออาจารย์หรือภารโรงในโรงเรียนเขาจะชี้ให้ท่านดูเรือนไม้แบบห้องแถวยาวชั้นเดียวค่อนข้างเก่า ที่อยู่ริมสระน้ำด้านหลังโรงอาหาร แล้วจะบอกกับท่านอย่างเต็มปากเต็มคำว่า “ ตึก ๔ อยู่นั้น ” ท่านคงจะนึกปลงอนิจจังสังเวชแก่ผู้ที่บอกให้ท่านทราบ ไม่เข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงเห็นเรือนไม้ชั้นเดียวแท้ๆกลายเป็นตึกไปได้ เพื่อให้แน่แกใจท่านก็อดที่จะไปถามอีกคนหนึ่งไม่ได้ แต่คำตอบอย่างเดียวกันในครั้งหลังนั้น ดูยิ่งเต็มไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ และเด็ดขาดอะไรเช่นนั้น คราวนี้ท่านคงไม่แน่ใจว่า สติของใครเป็นฝ่ายบกพร่องกันแน่ หรือเขาเกิดชำระปทานุกรมกันใหม่เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ท่านเลยไม่กล้าจะเอะอะต่อไปอีกเกรงเขาจะว่าท่านไม่ฉลาดและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกนักเรียนตึก ๔ ย่อมจะเห็นคำว่า ตึกๆ เรือนๆอะไรเหล่านี้ ถ้าพูดกันไปกันมาบ่อยๆเข้า ย่อมจะถือว่าเป็นการข่มเหงน้ำใจกันแท้ๆทีเดียว
แต่ขณะนี้ หากท่านเข้ามาในโรงเรียน แล้วมองไปตามมือชี้ของข้าพเจ้า นั่นแหละระหว่างตึกสองกับตึกสาม เยื้องมาทางข้างหลังเล็กน้อย ไม่ใช่ตึกหลังเตี้ยๆที่อยู่ระหว่างกลางตึกสองกับตึกสามนะท่าน ดูซิ ท่านเห็นอะไรผิดแปลกตาบ้างหรือยัง รู้สึกว่ามีอะไรแปลกตาแปลกใจโผล่ขึ้นมาจากพื้นดินบ้างหรือเปล่า นั่นไงเล่า ท่านคงเห็นแล้วซินะ นั่นแหละเป็นรูปร่างของตึกแท้ๆทีเดียว ตึกสูงสองชั้นเสียด้วย บรรดาผู้มีสติสมบูรณ์ทั้งหลายย่อมจะรับรองด้วยความมั่นอกมั่นใจได้ทีเดียวว่า นั่นตึกใช่แล้ว
เมื่อคืนวันอาทิตย์ติดต่อกับวันจันทร์ เวลาประมาณสองนาฬิกาของคืนวันที่ ๒๐ กรกฎาคม
พุทธศก ๒๔๙๕ โรงเรียนเตรียมฯได้กำหนดวางศิลาฤกษ์ตึกหลังใหม่นี้ ซึ่งตามประกาศหมายกำหนดการของโรงเรียน ให้เรียกว่าตึกหลังที่สี่ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาทำให้เราจึงต้องทำพิธีกันในเวลาค่ำคืนเช่นนั้นไม่เป็นของประหลาด นั่นเป็นเรื่องของท่านเจ้าอังกฤษ แต่ความประหลาดอยู่ที่ว่า ทำไมเราจึงทำได้ และทำได้อย่างเรียบร้อยเป็นที่น่าพอใจดุจดังนฤมิต
แต่ไหนแต่ไรมาพวกเราคนไทย ย่อมถือเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีมาแต่ดั้งเดิมว่า ใครจะปลูกบ้านสร้างเรือนใหม่ ย่อมจะต้องขอฤกษ์ลงเสาเอกจากโหราจารย์หรือพระสงฆ์องค์เจ้าที่นับถือ เพื่อเป็นสิริมงคลและความยั่งยืนนานแห่งสถานบ้านเรือนและเจ้าของผู้อยู่อาศัยในอาคารนั้นๆ ที่จริงเป็นแบบอย่างที่บรรพบุรุษของเรารับทอดกันมาจากลัทธิทางไสยศาสตร์จนกระทั่งทุกวันนี้และเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การที่เราทำสิ่งใดโดยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีแต่ดั่งเดิมของเราไว้นั้น ย่อมเปน
ความสบายใจและเป็นสง่าราศีแก่ผู้กระทำเพียงไร ตึกหลังที่ ๔ ของเรานี้ ได้ทราบว่า ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี วัดบวรนิเวศเป็นผู้ให้ฤกษ์
ส่วนของงานที่น่าจะนำมากล่าวในที่นี้ คือการจัดงานและคนที่จัดงาน หากใครมาเห็นในขณะนั้นแล้วคงจะอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าประเทศชาติและทุกกลุ่มชนในโลกนี้จะมีแต่ความพร้อมเพรียงและพร้อมใจกันเหมือนดังที่ได้ประจักษ์แก่ตาในขณะนั้นแล้วไซร้ โลดก็จะหมดปัญหาในเรื่องของความไม่สงบทั้งหลายแหล่ได้สิ้นเชิง
อาจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ท่านผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา นอกจากเป็นผู้ให้กำเนิดทุกสิ่งทุกอย่างในโรงเรียนเตรียมแม้กระทั่งชื่อตึกตลอดจนชื่อห้องเรียนและห้องต่างๆในโรงเรียนเตรียมฯ แต่ชื่อนั้นไม่ได้เกี่ยวกับความไพเราะเพราะพริ้งอะไรเลย ความสำคัญอยู่ที่ความคิดของท่านต้องการจะให้สะดวกในการสร้างระเบียบ ซึ่งทำให้เกิดความสบายในการประสานงาน และแยบคายพอที่จะรู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาค้นเช่นเรียกว่าตึก ๔ จะรู้ได้ทันทีว่ามันเกิดขึ้นทีหลังตึก ๓ ทั้งนักเรียนตึก ๔ ก็จะได้ไม่น้อยเนื้อต่ำใจว่า ครูบาอาจารย์รักเราไม่เท่ากัน แต่ที่ต้องอยู่เรือนแทนตึกไปก่อนนั้น เพราะครูบาอาจารย์เหล่านี้ท่านไม่มีโอกาสจะร่ำรวยจนล้นเหลือ จะได้ลงทุนสร้างตึกแข่งกับงบประมาณการสร้างโรงเรียนของรัฐบาลได้
จะอย่างไรก็ตาม อาจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ในตำแหน่งปลัดประทรวงศึกษาธิการ ก็ได้มากระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ตึกหลังที่ ๔ ของโรงเรียนเตรียมอันนับว่าเป็นเกียรติประวัติที่ชาวเตรียมฯจะพึงจำได้ด้วยความภาคภูมิใจยิ่ง ในคืนวันนั้น ถึงใครไม่สังเกตก็จะเห็นได้ถนัดว่า ที่นัยตาข้างซ้ายของท่านมีผ้ากอสสปิดไว้ เพื่อกันแสงสว่างกระทบเพราะตาเจ็บทุกคนพากันไม่สบายใจ ซึ่งถ้าหยิบยกให้กันได้ ก็คงจะมีใครรับมาเจ็บแทนเสียแล้ว แต่ตลอดเวลาท่านบอกว่าท่านไม่เป็นอะไรมาก หมอต่างหากที่เขาบอกว่าท่านเจ็บ ตลอดกลางวันในวันนั้นจนกระทั่งดึกดื่น ท่านคงสนุกอยู่กับงานพวกเราเลยพากันลืมสนิท ลืมว่าเราได้เก็บท่านไว้ในสภาพของคนเจ็บไข้ เป็นเวลานานเกินสมควรทีเดียว แต่คนที่ไม่ลืมก็จะไปทำอะไรท่านได้ ขึ้นชื่อว่าครูแล้วต้องอดทนทั้งกายวาจาและใจ ถ้าผู้ใดเกลียดความอดทน ก็ไม่บังควรเลยที่จะแสวงหาอาชีพในทางเป็นครู
พิธีวางศิลาฤกษ์ของโรงเรียนได้จัดขึ้นครบถ้วนถูกต้องตามแบบอย่างโบราณกาล เครื่องสังเวยพระเกตุจัดไว้พร้อมบนโต๊ะใหญ่ปูผ้าขาว มีหัวหมู บายศรี เป็ด ไก่ ผลไม้ ขนมนมเนยเข้าตอกดอกไม้ ธูปเทียน อีกด้านหนึ่งวางอิฐ ทอง และนาคอย่างละสามแผ่น กับศิลาฤกษ์เป็นหินอ่อนขนาด ๑๐×๑๐ นิ้ว จารึกวันเดือนปีที่ประกอบพิธีด้วยตัวทองโดยรอบบริเวณพิธีราชวัชฉัตรธงทำด้วยผ้าขาวล้วน ตามระยะทางมาสู่ปะรำพิธีนั้นมีอาจารย์ที่เป็นกรรมการเจ้าหน้าที่จัดงาน และนักเรียนชายที่เป็นกรรมการห้อง ๖๐ ยืนเรียงรายคอยต้อนรับท่านผู้เป็นประธานเมื่อท่านผู้อำนวยการได้เชิญผ่านเข้าสู่ปะรำพิธีเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มพิธีโดยท่านผู้อำนวยการได้ลุกขึ้นอ่านรายการก่อสร้างตึกที่ ๔ นี้ต่อหน้าท่านผู้เป็นประธาน สรุปโดยย่อคงได้ความพอสั้น ๆ ว่า ตึกนี้บริษัทสมสมัยเฟอร์นิเจอร์จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ในราคาหมื่นแปดแสนเศษกำหนดให้แล้วภายในเวลา ๑๘๐ วัน เสร็จแล้วท่านปลัดกระทรวงจึงลุกขึ้นกล่าวตอบ พร้อมด้วยคำอวยชัยให้พรสั้น ๆ เพื่อมิให้เสียเวลา เมื่อกล่าวจบแล้วท่านผู้อำนวยการจึงเชิญประธานเข้าประกอบพิธีเริ่มด้วยจุดเทียนบนโต๊ะบูชา พระครูศิวาจารย์ ผู้เป็นพราหมณาจารย์ผู้เฒ่า ก็ให้ลั่นฆ้องชัยเป่าสังข์และแกว่งบัณเฑาะว์ ท่องบ่นคาถา กล่าวออกชื่อท่านปลัดกระทรวงว่า ได้มากระทำพิธีวางศิลาฤกษ์ สำหรับตึกหลังใหม่ของโรงเรียนเตรียม จึงขอเชิญพระเป็นเจ้าโปรดประทานพรและเครื่องสังเวยนี้ พระครูศิวาจารย์ได้โอมคาถาเป็นข้อความยืดยาว กินเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ นาที แต่ที่ฟังเข้าใจเป็นภาษาไทยคงสรุปได้ความเพียงนี้ เมื่อพระครูศิวาจารย์กล่าวคาถาจบลงแล้ว ก็ให้ลั่นฆ้องประโคมสังข์แตรบัณเฑาะว์ขึ้นในทันที แล้วเชิญปลัดกระทรวงลงบันไดประมาณสี่ห้าคั่น ลงไปในหลุมที่เตรียมไว้สำหรับฝังศิลาฤกษ์ กรรมการเจ้าหน้าที่ซึ่งคอยอยู่ปากหลุมก็ค่อย ๆ ส่งพานดอกไม้ให้ท่านโปรยลงในหลุมพร้อมด้วยอิฐเงิน ทอง และนาค แล้วถึงแผ่นศิลาฤกษ์ แล้วใช้เกรียงตักปูนซีเมนต์ที่ผสมเตรียมไว้ฉาบให้แน่นหนาอีกครั้งหนึ่งนับเป็นเสร็จพิธีแต่เพียงเท่านี้ อดที่จะกล่าวไม่ได้ว่า เสียงฆ้องสังข์แตรและบัณเฑาะว์ซึ่งดังขึ้นในท่ามกลางความสงบเงียบสงัดยามรัตติกาลเช่นนั้น และเสียงบ่นคาถาอันเยือกเย็นของท่านพระครูศิวาจารย์อีกเล่า ดูเหมือนจะทำให้ทุกคนรู้สึกตัวเหมือนดังว่าตนกำลังช่วยกันประกอบพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ดุจในเทพนิยายฉะนั้น
เรื่องที่ต้องขอถามเป็นบรรณาการแก่ท่านผู้อ่าน ณ ที่นี้ คือเรื่องของน้ำใจ จุดสำคัญที่ผู้เขียนต้องเล่าให้ท่านฟัง และจะชี้ให้ท่านเห็น ไม่ใช่เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพิธีรีตองในลัทธิทางไสยศาสตร์ไม่ใช่จะโน้มน้อมชักจูงท่านให้เปลี่ยนศาสนา แต่ข้อสำคัญอยากจะให้ท่านได้สังเกตความมีน้ำใจของผู้ที่เสียสละเวลาร่วมงานนี้ด้วยความเต็มใจอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งก็คือบรรดาผู้ที่รับหน้าที่รู้หน้าที่และประกอบหน้าที่นั้นด้วยความพร้อมเพรียง ค่าของความมีน้ำใจนั้นสูงยิ่ง และจะสูงยิ่งขึ้นเมื่ออยู่ในหมู่ของคนที่เห็นแก่ตัว ซึ่งมีอยู่มากมายในสมัยนี้โดยเขาเหล่านั้นไม่ปรารถนาที่จะเอื้อมให้ถึงงานที่สามารถถึงความสำเร็จได้โดยเรียบร้อยในคืนวันนั้น ได้อาศัยบุคคลอีกจำพวกหนึ่งมีส่วนช่วยทั้งด้วยกำลังน้ำใจและกำลังกายบุคคลเหล่านี้คือนักเรียนเตรียมฯ ที่เป็นกรรมการห้อง ๖๐ ซึ่งขอสมัครเข้าช่วยในงานนี้ด้วย จริงอยู่บางคนอาจเป็นเพราะความอยากรู้อยากเห็นตามวิสัยของเด็กวัยรุ่นแต่ไม่เคยได้ยินใครบ่นว่าเหนื่อย ไม่เคยเห็นใครเลือกงานหนักงานเบา และไม่เคยได้ยินใครบ่นง่วงนอน ทุกคนกระปรี้กระเปร่า และพร้อมอยู่เสมอที่จะคอยรับคำสั่งจากผู้ใหญ่ไปปฏิบัติจัดทำ คนเราเมื่อไม่มีน้ำใจต่อกันแล้ว ความสำเร็จย่อมจะเกิดได้ด้วยยากยิ่ง
ในที่สุดนี้หรืออีกไม่กี่วันนี้ ก็เป็นอันแน่นอนว่า เราจะได้ตึกหลังที่ ๔ ซึ่งเป็นตึกจริง ๆ สมควรปรารถนา นอกจากนี้เรายังได้ยินแว่ว ๆ ว่าเราอาจจะได้ตึกที่ ๕ ซึ่งเป็นตึกจริง ๆ ต่อไปอีก แต่ขออย่าให้เราทุกคนลืมว่าโรงเรียนจะงาม ไม่ใช่เพราะมีแต่ตึกงาม ๆ อย่างเดียว ถ้าภายในตึกงาม ๆ นั้น บรรจุนักเรียนตลอดจนครูบาอาจารย์ที่มีน้ำใจไม่งดงาม
จำนวนผู้เยี่ยมชม | |
เดือนนี้ | 6,899 |
ปีนี้ | 110,378 |